วันศุกร์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2556

งานประเพณีแข่งเรือยาววัดไร่ขิง

   
 งานประเพณีแข่งเรือยาวชิงถ้วยพระราชทาน วันที่ 18-19 กรกฎาคม 2552
ณ วัดมงคลจินดาราม หรือ วัดไร่ขิง (พระอารามหลวง)

การแข่งเรือพายเป็นประเพณีเก่าแก่มาแต่ก่อนของชาวลุ่มน้ำ เริ่มมาจากการไปทำบุญไหว้พระในยุคอดีต ที่ชาวบ้านต้องใช้เรือเป็นพาหนะไปวัดทางน้ำ ระหว่างทางเกิดการพายเรือแข่งกันว่า ใครจะไปถึงวัดก่อน ในที่สุดก็เกิดเป็นประเพณีขึ้น แต่ต่อมาในยุคสมัยปัจจุบัน การคมนาคมใช้กันแต่ทางบกเป็นส่วนใหญ่ อีกทั้งคูคลองก็ตื้นเขินบางแห่งบางจุดก็ถูกปิดบดบังไม่สะดวก
วัดไร่ขิง (พระอารามหลวง) อ.สามพราน จ.นครปฐม โดยพระพิพัฒน์วิริยาภรณ์ (เจ้าคุณแย้ม กิตตินธโร ป.ธ.3) เจ้าคณะอำเภอพุทธมณฑล เจ้าอาวาสวัดไร่ขิง ได้ดำริให้ฟื้นฟูประเพณีการแข่งขันเรือพายขึ้น ณ แม่น้ำท่าจีนหน้าวัดไร่ขิง เพื่อเป็นการอนุรักษ์ส่งเสริมประเพณีอันดีงามในวิถีชีวิตของคนไทยที่ผูกพันอยู่กับสายน้ำ และศรัทธาในพระพุทธศาสนา สร้างสัมพันธ์ระหว่างคนไทยในแต่ละภาคแต่ละจังหวัด
นายจำรัส ตั้งตระกูลธรรม นายกเทศมนตรีเมืองไร่ขิง จึงร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครปฐม กำหนดจัดการแข่งขันเรือพายประเพณี ชิงถ้วยรางวัลพระราชทาน พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ขึ้น
นายจำรัส กล่าวว่า การแข่งขันเรือพายประเพณี ชิงถ้วยพระราชทาน ซึ่งวัดไร่ขิง เทศบาลเมืองไร่ขิง ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครปฐม โดยมีพระพิพัฒน์วิริยาภรณ์ เจ้าคณะอำเภอพุทธมณฑล เจ้าอาวาสวัดไร่ขิง (พระอารามหลวง) เป็นประธานที่ปรึกษาในการจัดงาน วัตถุประสงค์เพื่อเป็นการอนุรักษ์ ส่งเสริมประเพณีอันดีงามในวิถีชีวิตของคนไทยที่ผูกพันอยู่กับสายน้ำ และศรัทธาในพระพุทธศาสนา เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดนครปฐม ซึ่งจะมีเรือยาวจากทั่วทุกภาคของประเทศไทยเข้าร่วมแข่งขัน ในวันที่ 18-19 กรกฎาคม 2552 ณ บริเวณสะพานมงคลรัฐประชานุกูล กลางแม่น้ำท่าจีนหน้าวัดไร่ขิง
พระพิพัฒน์วิริยาภรณ์ ประธานที่ปรึกษาในการจัดงาน และคณะกรรมการจัดการแข่งขัน มั่นใจว่า การแข่งขันเรือยาวประเพณี ณ วัดไร่ขิง ครั้งที่ 2 จะประสบผลสำเร็จ โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรม และแข่งขันเรือยาวไม่น้อยกว่า 3 หมื่นคน ทั้งนี้ วัดไร่ขิงมี "หลวงพ่อวัดไร่ขิง" ประดิษฐานอยู่ ซึ่งเป็นที่เคารพและศรัทธาของประชาชนในจังหวัดนครปฐม และจังหวัดใกล้เคียงเป็นอย่างมาก นอกจากจะได้มาชมการแข่งขันเรือยาวประเพณีแล้ว ยังได้มากราบไหว้นมัสการหลวงพ่อวัดไร่ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัวด้วย
   
   

วันพุธที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2556

                                                             เรือตะเข้ 7 ฝีพาย จังหวัดนครสวรรค์



ประวัติความเป็นมา เรือตะเข้ของจังหวัดนครสวรรค์ เป็นเรือที่มีวิวัฒนาการมาจากเรือหาปลาของชาวประมง เกิดขึ้น ประมาณปี ๒๕๓๕ โดยชาวประมงที่หาปลาในบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ (เขตตำบลทับกฤช ตำบลเกรียงไกร แควใหญ่ นครสวรรค์ตก ตะเคียนเลื่อน บางมะฝ่อ ยางตาล ท่าน้ำอ้อย ฯลฯ ) คิดพัฒนาจากเรือหาปลามาเป็นเรือแข่ง จึงได้จ้างช่างชาวลานดอกไม้ จังหวัดกำแพงเพชร มาต่อเรือ ให้ชื่อว่า เรือตะเข้ (เพราะมีรูปทรงยาว เรียว เล็ก ปราดเปรียว ไม่ต้านน้ำ ลักษณะคล้ายตัวจระเข้) เพื่อใช้ในการแข่งขัน แทนเรือหาปลา ซึ่งชาวบ้านใช้แข่งขันกันมาตั้งแต่อดีต ในช่วงน้ำหลาก (เดือนกันยายน)
                                                                       แข่งเรือพิมาย


แต่เดิมแข่งที่ท่าน้ำบ้านวังหิน ต่อมาย้ายมาแข่งที่ลำตลาด ซึ่งอยู่ที่อำเภอพิมาย โดยจัดต่อเนื่องกันทุกปีจนถึงปัจจุบัน แต่เดิมเมื่อแต่ละหมู่บ้านทราบกำหนดการแข่งเรือล่วงหน้าก็จะฝึกซ้อมฝีพาย ซึ่งเป็นชายฉกรรจ์ในหมู่บ้านจนชำนาญ เมื่อใกล้ถึงวันแข่งเรือจะนำขึ้นมาขัดท้องเรือด้วยใบตองแห้ง เสร็จแล้วทาสีและลวดลายที่เรือและใบพาย แล้วทำพิธีไหว้เซ่นแม่ย่านางเรือเสร็จแล้วลากเรือลงน้ำฝีพายลงเรือโห่เอาฤกษ์เอาชัย เรือแข่งของแต่ละหมู่บ้านจะมาพร้อมกันที่บริเวณสถานที่แข่งขันเมื่อพระฉันจังหันแล้ว เมื่อได้เวลาเจ้าหน้าที่จะให้เรือแต่ละลำพาย แสดงตัวตามลำดับ ซึ่งจะเรียกชื่อตามที่มาถึงก่อนหลังตามชื่อเรือ เช่น มุนีจอมขวัญ เสมียนเสนาะเพราะสนั่นหมื่นสะท้านแผ่นดินไหว เป็นต้น เมื่อครบจำนวนแล้วจับสลากคู่แข่งกันในแต่ละ
ประเภท โดยกำหนดที่ฝีพายเป็นเรือขนาดใหญ่ กลาง เล็ก แข่งขันจนกว่าจะได้เรือที่ชนะเลิศของแต่ละรุ่น ซึ่งขณะแข่งขันผู้ชมการแข่งขันสองฟากฝั่งจะโห่ร้องเมื่อเรือหมู่บ้านของตนได้รับชัยชนะเป็นที่สนุกสนาน ปัจจุบันการแข่งขันเรือพิมาย ได้พัฒนาการแข่งเรือแบบพื้นบ้านมาเป็นการแข่งเรือแห่งประเทศไทย และถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของงานเทศกาลเที่ยวพิมายในเดือนพฤศจิกายนของทุกปี

 แข่งเรือจังหวัดอุทัยธานี





แข่งขันเรือชิงถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สนามอ่างเก็บน้ำทัพเสลา จ.อุทัยธานี จะมีขึ้นในวันที่ 28-30 มิถุนายน 2556 ที่บริเวณอ่างเก็บน้ำทัพเสลา ถือเป็นการแข่งขันเรือนชิงถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ สนามแรกของปี 2556 โดยมีเรือชื่อดังจากจังหวัดต่างๆ ทั้งเรือยาวใหญ่ 55 ฝีพาย เรือนยาวกลาง40 ฝีพาย และเรือยาวเล็ก 30 ฝีพาย สมัครเข้าร่วมการแข่งขันแล้ว จำนวน 37 ลำ แบ่งเป็นเรือยาวใหญ่ 55 ฝีพาย 12 ลำ อาทิ เรือเทพสุริยะ เรือเทพนรสิงห์88 เรือศรีอีสาน เรือสาวสวยสุภาพร เรือพรพระยาตาก ชาละวัน ฯลฯ เรือยาวกลาง 40 ฝีพาย 8 ลำ อาทิ เรือแม่จันทิมาทร เรือศักดิ์นารายณ์ เรือเขลางนคร เรือไกรทอง เรือพระพระแก้ว และ เรือยาวเล็ก 30 ฝีพาย 17 ลำ อาทิ เรือแม่จันทิมาทร เรือแม่โขงเอกนาวา เรือเจ้าแม่ทองคำ เรือเพชรสุพรรณ เรือบางมะฝ่อ เป็นต้น

แข่งเรือจังหวัดชุมพร


                                           
                                 


 การแข่งเรือ ของอำเภอหลังสวน เป็นประเพณีที่ดำเนินการสืบทอดมายาวนาน ซึ่งเริ่มมาจากการแข่งเรือระหว่างวัดต่าง ๆ ในงานออกพรรษาของทุกปี โดยมีการวางกติกา สำหรับเรือที่ชนะว่า ก่อนการเข้าเส้นชัย นายหัวเรือต้องปีนขึ้นหัวเรือ ซึ่งเรียกว่า โขนเรือ เพื่อไปหยิบธงที่ผูกไว้ ณ เส้นชัย การผูกธงจะใช้เรือโป๊ะลอยลำกลางแม่น้ำ และใช้สมอช่วยในการทรงตัวของเรือให้นิ่ง ธงชัยนั้นจะมีการนำท่อเป๊ปสอดที่ข้างเรือให้มีความยาวเสมอกัน จุดต่อของท่อจะผูกด้วยด้าย ซึ่งผู้แข่งขันต้องกระชากธงให้ขาด ถ้าเรือถึงเส้นชัยโดยไม่ได้ธงจะถือว่าแพ้ หรือ นายหัวเรือขึ้นชิงธงแต่ตกน้ำก็ถูกจับแพ้เช่นกันแม้ว่าเรือจะถึงเส้นชัยก่อน จากกติกาที่กำหนดให้เรือที่ชนะต้องปีนขึ้นหัวเรือทำให้เรือที่เข้า แข่งขันต้องใช้ไม้ที่เบาและเหนียว หัวเรือที่นิยมทำจะใช้ไม้กำจัด เพื่อไม่ให้หัวเรือหนักเวลาต้องวิ่งขึ้นไปกระตุกธงขณะเข้าเส้นชัย เรือที่ใช้ในการแข่งขัน ไม่จำกัดความยาวของเรือ แต่กำหนดจำนวนฝีพายไม่เกิน ๓๒ ฝีพาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรือจากวัดต่าง ๆ ในการจัดแข่งขันกรรมการจัดงานจะต้องติดต่อมาที่วัด เพื่อเชิญให้เข้าร่วมการแข่งขัน และเปิดรับสมัครจากภายนอกเช่นเดียวกับการรับสมัครแข่งขันกีฬาทั่ว ๆ ไป 

วันพฤหัสบดีที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

เรือประเพณีจังหวัดน่าน 

การแข่งเรือประเพณีจังหวัดน่าน เป็นประเพณีเก่าแก่ที่บรรพบุรุษชาวน่านได้ปฏิบัติสืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน แม่น้ำน่านเป็นแม่น้ำสายหลักที่ไหลผ่านตัวเมืองไปยังที่ต่างๆ เรือจึงเป็นพาหนะที่ชาวน่านและเจ้าผู้ครองนครใช้ในการเดินทางไปมาหาสู่กัน  และเชื่อมสัมพันธไมตรีกับหัวเมืองต่างๆ เริ่มปรากฏหลักฐานในประวัติศาสตร์เมืองน่าน เมื่อ พ.ศ. ๑๙๐๒ พระยาการเมือง เจ้าเมืองวรนคร (เมืองปัว) ได้ใช้เรืออพยพขนย้ายผู้คนล่องมาตามลำน้ำน่าน เพื่อสร้างเมืองใหม่ที่เมืองภูเพียงแช่แห้ง ( บริเวณวัดพระธาตุแช่แห้ง อำเภอภูเพียง ในปัจจุบัน)





























วันพุธที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

แข่งเรือยาวจังหวัดนครสวรรค์












                                                             แข่งเรือยาวจังหวัดนครสวรรค์ 
จังหวัดนครสวรรค์ ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) มีกำหนดจัด “งานแข่งขันเรือยาวประเพณีชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ” ระหว่างวันที่ 29-30 กันยายน 2550 และยังได้กำหนดจัด “งานแสดงสินค้า 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์” ระหว่างวันที่ 21 – 30 กันยายน 2550 ควบคู่ไปด้วย ณ บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา หน้าศาลากลางจังหวัดนครสวรรค์

กิจกรรมในงานประกอบด้วย 
21-30 ก.ย. 50 
- การออกร้านของกลุ่มเกษตรกร กลุ่มแม่บ้าน จำหน่ายสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ พร้อมมหรสพ 
27-29 ก.ย.50 (กลางคืน) 
- แข่งขันเรือตะเข้ 

29-30 ก.ย.50 
- การแข่งขันเรือยาว 3 ประเภท คือ เรือยาวใหญ่, เรือยาวกลาง, เรือยาวเล็ก 
ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ 
นอกจากนี้นักท่องเที่ยวสามารถท่องเที่ยวหมู่บ้าน OTOP ที่บ้านเกยไชย อ.ชุมแสง แหล่งผลิตน้ำตาลสด และผลิตภัณฑ์จากตาล, บ้านแก่ง อ.เมือง แหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาส่งออก, ท่องเที่ยวตามรอยเสด็จประพาสต้น ร.5 หรือล่องแก่งลำน้ำแม่วงก์ ที่หน่วยฯ แม่เรวา อ.ลาดยาว 

วันพุธที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2556

แข่งเรือพิจิตร


ประวัติการแข่งขันเรือยาวจังหวัดพิจิตร

                    การแข่งขันเรือยาว เป็นวัฒนธรรมประเพณีของชาติมาหลายยุคหลายสมัย   สำหรับการแข่งขันเรือยาวประเพณีของวัดท่าหลวง เริ่มตั้งแต่พระเดชพระคุณหลวงพ่อเจ้าคุณพระธรรมทัสสี-มุนีวงศ์ (เอี่ยม) มาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดท่าหลวง และเจ้าคณะจังหวัดพิจิตร ประมาณ พ.ศ. 2450 แข่งขันติดต่อกันมาจนกระทั่งถึงสมัยของ พระเดชพระคุณหลวงพ่อเจ้าคุณพระฑีฆทัสสี-มุนีวงศ์(ไป๋  นาควิจิตร) มาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดท่าหลวงและเจ้าคณะจังหวัดพิจิตร ในสมัยของพระเดชพระคุณหลวงพ่อเจ้าคุณพระฑีฆทัสสีมุนีวงศ์ เป็นเจ้าอาวาส       การกำหนดงานจัดงานแข่งขันเรือกำหนดตามวันทางจันทรคติคือวันขึ้น  6  ค่ำ  เดือน  11  ของทุกปี     ภายหลังน้ำในแม่น้ำน่านลดลงไวเกินไปไม่เหมาะสมจะแข่งขันเรือยาวจึงเปลี่ยนมาเป็นวันขึ้น   6  ค่ำ เดือน 10  และจัดแข่งขันเพียงวันเดียว
                    การแข่งขันเรือยาวของวัดท่าหลวง ประชาชนให้ความสนใจมาชมงานอย่างคับคั่งล้นหลามตลอดมา เพราะวัดท่าหลวงตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองพิจิตรเพียงวัดเดียวเท่านั้น  เจ้าคณะจังหวัดพิจิตรเป็นผู้จัดสนับสนุน โดยผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร (สมัยก่อนเรียกผู้ว่าราชการ ว่า ข้าหลวง หรือ พ่อเมือง) สิ่งที่จูงใจอีกอย่างหนึ่ง คือ  ภายในวัดท่าหลวงมีพระพูทธรูปทรงอานุภาพศักดิ์สิทธิ์องค์หนึ่ง    คือ   หลวงพ่อเพชร  สมัยเชียงแสนสิงห์ 1  รุ่นแรก  ขนาดหน้าตักกว้าง  2  ศอก  6  นิ้ว   เป็นที่เคารพนับถือของชาวจังหวัดพิจิตร     และจังหวัดใกล้เคียงเป็นอย่างยิ่ง เมื่อประชาชน มาชมการแข่งขันเรือยาวแล้วได้มีโอกาสนมัสการ  และปิดทององค์หลวงพ่อเพชรด้วยมือของตนเองด้วย(เมื่อหลวงพ่อเพชรประดิษฐานอยู่ที่อุโบสถหลังเก่าที่หลวงพ่อเอี่ยมสร้างด้วยไม้สักเกือบทั้งหลัง) ได้อนุญาตให้ปิดทองที่องค์จริงได้ ต่อมา   พระเดชพระคุณหลวงพ่อเจ้าคุณพระฑีฆทัสสีมุนีวงศ์ (ไป๋ นาควิจิตร) เมื่อ พ.ศ. 2492 ได้อัญเชิญหลวงพ่อเพชรไปประดิษฐานเหนือพระแท่นฐานชุกชี แล้วลงลักปิดทองเรียบร้อยทั้งองค์   แล้วห้ามประชาชนปิดทององค์จริง เพราะว่าจะทำให้เสียความงามพระพุทธลักษณะ ปัจจุบันประชาชนให้ความเคารพนับถือหลวงพ่อเพชรทั่วประเทศไทยแล้ว  แม้วันปกติพระอุโบสถที่ประดิษฐานองค์หลวงพ่อเพชรก็ไม่ว่างจากสาธุชนที่มานมัสการ ผู้ที่มาเที่ยวเมืองพิจิตร หรือมาชมงานแข่งขันเรือยาวประเพณี หากยังไม่ได้ไปนมัสการองค์หลวงพ่อเพชร ผู้นั้น ชื่อว่ายังมาไม่ถึงเมืองพิจิตร และวัดท่าหลวง เพราะว่าหลวงพ่อเพชรเป็นจุดรวมจิตใจของประชาชนชาวจังหวัดพิจิตร
                    ในการจัดรางวัลการแข่งขันเรือยาวประเพณีนั้น  ในสมัยหลวงพ่อเอี่ยมและต้นสมัยหลวงพ่อไป๋นั้น จัดผ้าห่มหลวงพ่อเพชรพับใส่พานให้เป็นรางวัลชนะเลิศ     และรองชนะเลิศแก่เรือยาวเมื่อเรือยาวลำใดได้ผ้าห่มหลวงพ่อเพชรไปแล้ว    จะพึงพอใจเป็นอย่างยิ่ง   จะนำผ้ารางวัลนั้นพันไว้ที่โขนเรือ    โดยถือว่าเป็นสิริมงคลแก่เทือกเรือ (ฝีพาย) ของตน ภายหลังคณะกรรมการพิจารณาเห็นว่าผ้าห่มหลวงพ่อเพชรเป็นของสูง   การนำผ้าห่มของหลวงพ่อเพชรไปพันที่โขนเรืออาจไม่เหมาะสม  จึงยกเลิกเสีย แล้วจัดทำธงที่มีภาพหลวงพ่อเพชรเป็นรางวัลชนะเลิศและรองชนะเลิศแทน  ต่อมา  ได้ทำธงแบบนี้ให้เป็นอนุสรณ์แก่เรือที่เข้าร่วมแข่งขันทุกลำ
                    การแข่งขันเรือยาวประเพณีของจังหวัดพิจิตร  ณ  วัดท่าหลวง    ได้รับการพัฒนาขึ้นโดย ลำดับคือ  เพิ่มวันแข่งขันจากหนึ่งวันมาเป็นสองวัน  เพราะเรือยาวประเภทต่าง ๆ  ที่เข้าร่วมแข่งขันเพิ่มขึ้นทุกปี  และเพื่อความเป็นธรรมแก่เรือที่เข้าร่วมแข่งขัน  ได้จัดเพิ่มเรือยาวขนาดกลาง  ขึ้นมาอีกขนาดหนึ่ง    รวมเป็น  3   ขนาด  คือ  ขนาดเล็ก ฝีพายไม่เกิน  30  คน  ขนาดกลางฝีพาย  ไม่เกิน 40  คน   ขนาดใหญ่ฝีพายไม่เกิน   55  คน  แต่ละขนาดแยกเป็น   2   ประเภท  คือ ประเภท  ก  และประเภท ข  ประเภท  ก  คือ  การแข่งขันเรือยาวทั่วไป  โดยเชิญจากทุกจังหวัดที่มีเรือยาวเข้าร่วมแข่งขัน  ส่วนประเภท  ข นั้น เราจะเชิญเฉพาะเรือยาวที่อยู่ในจังหวัดพิจิตร  เท่านั้นกำหนดวันแข่งขันจากวันจันทรคติ  คือวันขึ้น  6  ค่ำ  เดือน 10 มาเป็นวันสุริยคติ  คือ  เสาร์  อาทิตย์ ของต้นเดือนกันยายนทุกปี
                    ในปี    พ.ศ. 2524   พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ   ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ    พระราชทานถ้วยรางวัล   เนื่องในการแข่งขันเรือยาวประเพณีของจังหวัดพิจิตร  ทั้ง  3  ประเภท  คือ ประเภทเรือยาวใหญ่ ขนาด 55 ฝีพาย    ประเภทเรือยาวกลาง ขนาด 31-40 ฝีพาย  และประเภทเรือยาวเล็ก 30 ฝีพาย     นับว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้า ฯ      หาที่สุดมิได้   ถ้วยรางวัลที่พระองค์ พระราชทานมานี้ได้สร้างความภูมิใจเป็นอย่างยิ่งให้แก่ประชาชนชาวจังหวัดพิจิตร และ คณะกรรมการผู้จัดงาน หลังจากการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ ได้พระราชทาน ถ้วยรางวัลแก่คณะกรรมการผู้จัดงานมานั้นแล้ว   ได้สร้างความสนใจแก่ประชาชนผู้มาชมงานเป็นอย่างยิ่งเพราะเรือยาวส่งเข้าแข่งขันมากขึ้นและประชาชนมาชมงานมากขึ้น รายได้จากการจัดงาน  ก็มากขึ้นมีผลให้เงินสุทธิของงานเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก
                    เมื่อการจัดงานแข่งขันเรือยาวของจังหวัดพิจิตรเสร็จเรียบร้อย  แต่ละปีจะมีรายได้สุทธิเป็นจำนวนเท่าใด   ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร       ก็จะนำรายได้สุทธิจากงานนั้นส่วนหนึ่งถวายวัดท่าหลวง    ทางวัดได้นำเงินจำนวนนี้บูรณะปฏิสังขรณ์ถาวรวัตถุภายในวัดท่าหลวง   คือ   บูรณะกุฏิสงฆ์  อีกส่วนหนึ่งจะใช้ในกิจกรรมสาธารณกุศลต่าง ๆ เช่น  รายได้จากการจัดงานในปี  2538 -  2539  ปีเฉลิมฉลองกาญจนาภิเษก  ได้นำเงินขึ้นทูลเกล้า ฯ  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ    โดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศรัย  จำนวนเงินถึง  3  ล้านบาท และการจัดงานประเพณีแข่งขันเรือยาวปี 2550 เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา จังหวัดพิจิตรได้นำเงินรายได้จากการจัดงานขึ้นทูลเกล้าฯถวาย อีก จำนวน 3 ล้านบาท
                    ท่านที่มาชมงานแข่งขันเรือยาวของจังหวัดพิจิตร     ที่ได้สละปัจจัยบำรุงงาน(ซื้อบัตรผ่านประตู) ชื่อว่าท่านเป็นผู้มีส่วนบำรุงสาธารณกุศลในจังหวัดพิจิตรและได้ชื่อว่าเป็นผู้มีส่วนส่งเสริมและรักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรม  การกีฬาแข่งขันเรือยาวประเพณีอันดีงามของชาติให้คงอยู่ต่อไป  สำหรับปีนี้  จังหวัดพิจิตรจะจัดงานแข่งขันเรือยาวชิงถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ ในวันที่  5  -  7  กันยายน  2551  ท่านจะได้ชมขบวนเรือพยุหยาตราจำลองทางชลมารคที่สวยงามตระการตา หนึ่งในสยามของงานแข่งเรือ  การแข่งขันเรือยาวที่สนุกสนาน  เร้าใจ จากการประชันฝีพายเรือ ถึง 4 ประเภท  และยังได้เลือกซื้อสินค้าที่มีคุณภาพจาก โครงการหนึ่งตำบล  หนึ่งผลิตภัณฑ์   อีกด้วย