วันศุกร์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2556

งานประเพณีแข่งเรือยาววัดไร่ขิง

   
 งานประเพณีแข่งเรือยาวชิงถ้วยพระราชทาน วันที่ 18-19 กรกฎาคม 2552
ณ วัดมงคลจินดาราม หรือ วัดไร่ขิง (พระอารามหลวง)

การแข่งเรือพายเป็นประเพณีเก่าแก่มาแต่ก่อนของชาวลุ่มน้ำ เริ่มมาจากการไปทำบุญไหว้พระในยุคอดีต ที่ชาวบ้านต้องใช้เรือเป็นพาหนะไปวัดทางน้ำ ระหว่างทางเกิดการพายเรือแข่งกันว่า ใครจะไปถึงวัดก่อน ในที่สุดก็เกิดเป็นประเพณีขึ้น แต่ต่อมาในยุคสมัยปัจจุบัน การคมนาคมใช้กันแต่ทางบกเป็นส่วนใหญ่ อีกทั้งคูคลองก็ตื้นเขินบางแห่งบางจุดก็ถูกปิดบดบังไม่สะดวก
วัดไร่ขิง (พระอารามหลวง) อ.สามพราน จ.นครปฐม โดยพระพิพัฒน์วิริยาภรณ์ (เจ้าคุณแย้ม กิตตินธโร ป.ธ.3) เจ้าคณะอำเภอพุทธมณฑล เจ้าอาวาสวัดไร่ขิง ได้ดำริให้ฟื้นฟูประเพณีการแข่งขันเรือพายขึ้น ณ แม่น้ำท่าจีนหน้าวัดไร่ขิง เพื่อเป็นการอนุรักษ์ส่งเสริมประเพณีอันดีงามในวิถีชีวิตของคนไทยที่ผูกพันอยู่กับสายน้ำ และศรัทธาในพระพุทธศาสนา สร้างสัมพันธ์ระหว่างคนไทยในแต่ละภาคแต่ละจังหวัด
นายจำรัส ตั้งตระกูลธรรม นายกเทศมนตรีเมืองไร่ขิง จึงร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครปฐม กำหนดจัดการแข่งขันเรือพายประเพณี ชิงถ้วยรางวัลพระราชทาน พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ขึ้น
นายจำรัส กล่าวว่า การแข่งขันเรือพายประเพณี ชิงถ้วยพระราชทาน ซึ่งวัดไร่ขิง เทศบาลเมืองไร่ขิง ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครปฐม โดยมีพระพิพัฒน์วิริยาภรณ์ เจ้าคณะอำเภอพุทธมณฑล เจ้าอาวาสวัดไร่ขิง (พระอารามหลวง) เป็นประธานที่ปรึกษาในการจัดงาน วัตถุประสงค์เพื่อเป็นการอนุรักษ์ ส่งเสริมประเพณีอันดีงามในวิถีชีวิตของคนไทยที่ผูกพันอยู่กับสายน้ำ และศรัทธาในพระพุทธศาสนา เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดนครปฐม ซึ่งจะมีเรือยาวจากทั่วทุกภาคของประเทศไทยเข้าร่วมแข่งขัน ในวันที่ 18-19 กรกฎาคม 2552 ณ บริเวณสะพานมงคลรัฐประชานุกูล กลางแม่น้ำท่าจีนหน้าวัดไร่ขิง
พระพิพัฒน์วิริยาภรณ์ ประธานที่ปรึกษาในการจัดงาน และคณะกรรมการจัดการแข่งขัน มั่นใจว่า การแข่งขันเรือยาวประเพณี ณ วัดไร่ขิง ครั้งที่ 2 จะประสบผลสำเร็จ โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรม และแข่งขันเรือยาวไม่น้อยกว่า 3 หมื่นคน ทั้งนี้ วัดไร่ขิงมี "หลวงพ่อวัดไร่ขิง" ประดิษฐานอยู่ ซึ่งเป็นที่เคารพและศรัทธาของประชาชนในจังหวัดนครปฐม และจังหวัดใกล้เคียงเป็นอย่างมาก นอกจากจะได้มาชมการแข่งขันเรือยาวประเพณีแล้ว ยังได้มากราบไหว้นมัสการหลวงพ่อวัดไร่ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัวด้วย
   
   

วันพุธที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2556

                                                             เรือตะเข้ 7 ฝีพาย จังหวัดนครสวรรค์



ประวัติความเป็นมา เรือตะเข้ของจังหวัดนครสวรรค์ เป็นเรือที่มีวิวัฒนาการมาจากเรือหาปลาของชาวประมง เกิดขึ้น ประมาณปี ๒๕๓๕ โดยชาวประมงที่หาปลาในบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ (เขตตำบลทับกฤช ตำบลเกรียงไกร แควใหญ่ นครสวรรค์ตก ตะเคียนเลื่อน บางมะฝ่อ ยางตาล ท่าน้ำอ้อย ฯลฯ ) คิดพัฒนาจากเรือหาปลามาเป็นเรือแข่ง จึงได้จ้างช่างชาวลานดอกไม้ จังหวัดกำแพงเพชร มาต่อเรือ ให้ชื่อว่า เรือตะเข้ (เพราะมีรูปทรงยาว เรียว เล็ก ปราดเปรียว ไม่ต้านน้ำ ลักษณะคล้ายตัวจระเข้) เพื่อใช้ในการแข่งขัน แทนเรือหาปลา ซึ่งชาวบ้านใช้แข่งขันกันมาตั้งแต่อดีต ในช่วงน้ำหลาก (เดือนกันยายน)
                                                                       แข่งเรือพิมาย


แต่เดิมแข่งที่ท่าน้ำบ้านวังหิน ต่อมาย้ายมาแข่งที่ลำตลาด ซึ่งอยู่ที่อำเภอพิมาย โดยจัดต่อเนื่องกันทุกปีจนถึงปัจจุบัน แต่เดิมเมื่อแต่ละหมู่บ้านทราบกำหนดการแข่งเรือล่วงหน้าก็จะฝึกซ้อมฝีพาย ซึ่งเป็นชายฉกรรจ์ในหมู่บ้านจนชำนาญ เมื่อใกล้ถึงวันแข่งเรือจะนำขึ้นมาขัดท้องเรือด้วยใบตองแห้ง เสร็จแล้วทาสีและลวดลายที่เรือและใบพาย แล้วทำพิธีไหว้เซ่นแม่ย่านางเรือเสร็จแล้วลากเรือลงน้ำฝีพายลงเรือโห่เอาฤกษ์เอาชัย เรือแข่งของแต่ละหมู่บ้านจะมาพร้อมกันที่บริเวณสถานที่แข่งขันเมื่อพระฉันจังหันแล้ว เมื่อได้เวลาเจ้าหน้าที่จะให้เรือแต่ละลำพาย แสดงตัวตามลำดับ ซึ่งจะเรียกชื่อตามที่มาถึงก่อนหลังตามชื่อเรือ เช่น มุนีจอมขวัญ เสมียนเสนาะเพราะสนั่นหมื่นสะท้านแผ่นดินไหว เป็นต้น เมื่อครบจำนวนแล้วจับสลากคู่แข่งกันในแต่ละ
ประเภท โดยกำหนดที่ฝีพายเป็นเรือขนาดใหญ่ กลาง เล็ก แข่งขันจนกว่าจะได้เรือที่ชนะเลิศของแต่ละรุ่น ซึ่งขณะแข่งขันผู้ชมการแข่งขันสองฟากฝั่งจะโห่ร้องเมื่อเรือหมู่บ้านของตนได้รับชัยชนะเป็นที่สนุกสนาน ปัจจุบันการแข่งขันเรือพิมาย ได้พัฒนาการแข่งเรือแบบพื้นบ้านมาเป็นการแข่งเรือแห่งประเทศไทย และถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของงานเทศกาลเที่ยวพิมายในเดือนพฤศจิกายนของทุกปี

 แข่งเรือจังหวัดอุทัยธานี





แข่งขันเรือชิงถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สนามอ่างเก็บน้ำทัพเสลา จ.อุทัยธานี จะมีขึ้นในวันที่ 28-30 มิถุนายน 2556 ที่บริเวณอ่างเก็บน้ำทัพเสลา ถือเป็นการแข่งขันเรือนชิงถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ สนามแรกของปี 2556 โดยมีเรือชื่อดังจากจังหวัดต่างๆ ทั้งเรือยาวใหญ่ 55 ฝีพาย เรือนยาวกลาง40 ฝีพาย และเรือยาวเล็ก 30 ฝีพาย สมัครเข้าร่วมการแข่งขันแล้ว จำนวน 37 ลำ แบ่งเป็นเรือยาวใหญ่ 55 ฝีพาย 12 ลำ อาทิ เรือเทพสุริยะ เรือเทพนรสิงห์88 เรือศรีอีสาน เรือสาวสวยสุภาพร เรือพรพระยาตาก ชาละวัน ฯลฯ เรือยาวกลาง 40 ฝีพาย 8 ลำ อาทิ เรือแม่จันทิมาทร เรือศักดิ์นารายณ์ เรือเขลางนคร เรือไกรทอง เรือพระพระแก้ว และ เรือยาวเล็ก 30 ฝีพาย 17 ลำ อาทิ เรือแม่จันทิมาทร เรือแม่โขงเอกนาวา เรือเจ้าแม่ทองคำ เรือเพชรสุพรรณ เรือบางมะฝ่อ เป็นต้น

แข่งเรือจังหวัดชุมพร


                                           
                                 


 การแข่งเรือ ของอำเภอหลังสวน เป็นประเพณีที่ดำเนินการสืบทอดมายาวนาน ซึ่งเริ่มมาจากการแข่งเรือระหว่างวัดต่าง ๆ ในงานออกพรรษาของทุกปี โดยมีการวางกติกา สำหรับเรือที่ชนะว่า ก่อนการเข้าเส้นชัย นายหัวเรือต้องปีนขึ้นหัวเรือ ซึ่งเรียกว่า โขนเรือ เพื่อไปหยิบธงที่ผูกไว้ ณ เส้นชัย การผูกธงจะใช้เรือโป๊ะลอยลำกลางแม่น้ำ และใช้สมอช่วยในการทรงตัวของเรือให้นิ่ง ธงชัยนั้นจะมีการนำท่อเป๊ปสอดที่ข้างเรือให้มีความยาวเสมอกัน จุดต่อของท่อจะผูกด้วยด้าย ซึ่งผู้แข่งขันต้องกระชากธงให้ขาด ถ้าเรือถึงเส้นชัยโดยไม่ได้ธงจะถือว่าแพ้ หรือ นายหัวเรือขึ้นชิงธงแต่ตกน้ำก็ถูกจับแพ้เช่นกันแม้ว่าเรือจะถึงเส้นชัยก่อน จากกติกาที่กำหนดให้เรือที่ชนะต้องปีนขึ้นหัวเรือทำให้เรือที่เข้า แข่งขันต้องใช้ไม้ที่เบาและเหนียว หัวเรือที่นิยมทำจะใช้ไม้กำจัด เพื่อไม่ให้หัวเรือหนักเวลาต้องวิ่งขึ้นไปกระตุกธงขณะเข้าเส้นชัย เรือที่ใช้ในการแข่งขัน ไม่จำกัดความยาวของเรือ แต่กำหนดจำนวนฝีพายไม่เกิน ๓๒ ฝีพาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรือจากวัดต่าง ๆ ในการจัดแข่งขันกรรมการจัดงานจะต้องติดต่อมาที่วัด เพื่อเชิญให้เข้าร่วมการแข่งขัน และเปิดรับสมัครจากภายนอกเช่นเดียวกับการรับสมัครแข่งขันกีฬาทั่ว ๆ ไป